ในปัจจุบันสภาพการแข่งขันที่สูงสำหรับธุรกิจ SMEs การขายสินค้าแค่เพียงการรับชำระเป็นเงินสดเป็นสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าก็ย่อมต้องการซื้อสินค้าไปผลิตและวางจำหน่ายก่อน เมื่อไรที่ได้รับชำระเงินมาก็ค่อยนำมาชำระให้ผู้ขาย ดังนั้นการให้เครดิตกับลูกค้าหรือการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ จึงช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ SMEs ลูกค้าที่ได้รับเครดิตในการชำระเงินจากการซื้อสินค้า ซึ่งเกิดจากการดำเนินการค้าขายตามปกติของธุรกิจ เรียกว่าลูกหนี้การค้า ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ได้ตกลงให้ผู้ซื้อ (ลูกค้า) นำสินค้าไปใช้ก่อนแล้วค่อยชำระเงินภายหลัง หรือที่เรียกว่าการให้เครดิตเทอม ซึ่งระยะเวลาการให้เครดิตเทอมของธุรกิจ มีตั้งแต่ 15 วัน 30 วัน 45 วัน หรือ 60 วัน เป็นต้น
ความหมายของหนี้สูญ
จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลยอดขายของธุรกิจลดลง ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการผิดนัดการชำระหนี้ของลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระสะสมมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจัดหาเงินสำรองมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต หรือการจัดซื้อสินค้าสำหรับธุรกิจซื้อมาขายไป รวมถึงการสำรองจ่ายค่าใช้จ่ายของกิจการ ได้แก่ เงินเดือนพนักงาน ค่าขนส่งสินค้า ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น ภาระดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดการขาดสภาพคล่องได้ เมื่อกิจการไม่สามารถบริหารจัดการในเรื่องเงินทุนหมุนเวียนได้ ในที่สุดอาจทำให้ถึงขั้นเลิกกิจการ ในการผิดนัดของลูกหนี้ มีโอกาสที่กิจการจะไม่ได้รับชำระหนี้ และอาจเกิดหนี้สูญขึ้นได้
ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 101 เรื่องหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญ ได้ให้คำนิยามของคำว่า “หนี้สูญ” ไว้ดังนี้
“หนี้สูญ” หมายถึง ลูกหนี้ที่ได้ติดตามทวงถามจนถึงที่สุดแล้ว แต่ไม่ได้รับชำระหนี้และได้ตัดจำหน่ายออกจากบัญชี
แนวปฏิบัติในทางบัญชี การตัดจำหน่ายหนี้สูญเป็นค่าใช้จ่ายโดยตรง ที่จริงเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก แต่ก็มีข้อบกพร่องที่ไม่เป็นไปตามหลักการ Matching Principle หรือหลักการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชี อีกทั้งมูลค่าของลูกหนี้ที่แสดงในงบการเงินไม่ได้อยู่ในมูลค่าที่จะได้รับจริง วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ไม่ค่อยใช้กัน เว้นแต่หนี้ที่คาดว่าจะเก็บไม่ได้มีจำนวนที่ไม่มีนัยสำคัญ แต่ในสภาพความเป็นจริงทางธุรกิจ ถึงแม้ลูกหนี้ส่วนใหญ่จะชำระหนี้เมื่อครบกำหนด แต่มีลูกหนี้บางรายไม่ชำระหนี้ ในทางปฏิบัติจะ ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าลูกหนี้รายใดจะไม่ชำระหนี้จนกว่าจะถึงกำหนดชำระ หรือได้มีการทวงถามจนถึงที่สุดแล้ว ทำให้มูลค่าของลูกหนี้ที่จะแสดงในงบการเงินมีจำนวนสูงกว่าความเป็นจริง ดังนั้นจึงต้องมีการประมาณจำนวนหนี้ที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้จำนวนหนึ่ง กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญซึ่งเป็นบัญชีปรับมูลค่า นำไปปรับลดบัญชีลูกหนี้ เพื่อให้แสดงมูลค่าสุทธิที่ใกล้เคียงกับมูลค่าตามความเป็นจริง ได้แก่ วิธีตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้องตามหลักการบัญชีในการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชี
แนวทางการจำหน่ายหนี้สูญทางภาษี
ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้กิจการที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการตัดจำหน่ายหนี้สูญที่เกิดจากการเลิกกิจการของลูกหนี้ หรือเกิดจากการเก็บหนี้ไม่ได้ กรมสรรพากรจึงกำหนดให้ใช้แนวทางการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามหลักเกณฑ์ใหม่ได้แก่ กฎกระทรวงฉบับที่ 374 (พ.ศ.2564) ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 29 เมษายน พ.ศ.2564 แทนกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) โดยมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสภาพการดำเนินงานทางธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำหนี้สูญที่จะจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
สาระสำคัญของการจำหน่ายหนี้สูญทางภาษีตามหลักเกณฑ์ใหม่ มีดังนี้
1. ลักษณะของหนี้สูญที่จะสามารถจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ได้
สำหรับหลักเกณฑ์ข้อนี้ไม่แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม โดยลักษณะของหนี้สูญที่จะสามารถจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ได้มีดังนี้
· เป็นหนี้ที่เกิดจากการประกอบกิจการ หรือเนื่องจากการประกอบกิจการ หรือหนี้ที่ได้รวมเป็นเงินได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ แต่ไม่รวมหนี้ซึ่งเกิดจากกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นลูกหนี้ (เงินให้กู้ยืมกรรมการ ไม่สามารถตัดหนี้สูญได้)
· ต้องเป็นหนี้ที่ไม่ขาดอายุความและมีหลักฐานโดยชัดแจ้งที่สามารถฟ้องลูกหนี้ได้
2. มีการขยายเพดานการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
สำหรับหลักเกณฑ์ข้อนี้มีความแตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ดังนี้
3. หลักเกณฑ์ในการตัดหนี้สูญใหม่
3.1 กรณีลูกหนี้แต่ละราย มีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท
มีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ หากฟ้องจะเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ
3.2 กรณีลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 200,000 บาทแต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท
ต้องมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1. มีการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้และมีหลักฐานการติดตาม แต่ไม่ได้รับชำระ โดยปรากฏว่า
(ก) ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย เป็นคนสาบสูญ หรือมีหลักฐานว่าหายสาบสูญ และไม่มีทรัพย์สินชำระหนี้
(ข) ลูกหนี้เลิกกิจการ และมีเจ้าหนี้รายอื่นที่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้อยู่ในลำดับก่อนเป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สินของลูกหนี้
2. ได้ดำเนินการฟ้องศาล
2.1 กรณีคดีแพ่ง กิจการจะตัดหนี้สูญได้เมื่อได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้และศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องและศาลได้มีคำสั่งรับคำขอนั้นแล้ว
2.2 กรณีคดีล้มละลาย กิจการจะตัดหนี้สูญได้เมื่อได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้และศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือในคดีที่ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้อง และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลได้มีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้นั้น
3. กรณีลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 2,000,000 บาท
ต้องมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1.มีการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้และมีหลักฐานการติดตาม แต่ไม่ได้รับชำระ โดยปรากฏว่า
(ก) ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย เป็นคนสาบสูญ หรือมีหลักฐานว่าหายสาบสูญ และไม่มีทรัพย์สินชำระหนี้
(ข) ลูกหนี้เลิกกิจการ และมีเจ้าหนี้รายอื่นที่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้อยู่ในลำดับก่อนเป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สินของลูกหนี้
2.ได้ดำเนินการฟ้องศาล
2.1 กรณีคดีแพ่ง กิจการจะตัดหนี้สูญได้เมื่อได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ หรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้อง โดยได้มีหมายบังคับคดีของศาลแล้ว และมีรายงานการบังคับคดีครั้งแรกของ เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดชำระหนี้ได้
2.2 กรณีคดีล้มละลาย กิจการจะตัดหนี้สูญได้เมื่อได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้หรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้อง หรือในคดีที่ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย โดยได้มีการประนอมหนี้นั้นกับลูกหนี้ โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกหรือศาลได้มีคำสั่งปิดคดีแล้ว
4.หลักเกณฑ์ใหม่นี้ใช้บังคับสำหรับการดำเนินการที่เริ่มในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
การบริหารจัดการลูกหนี้ไม่ให้เกิดหนี้สูญ
ถึงแม้จะมีกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมาช่วยผู้ประกอบการในการ ตัดหนี้สูญเป็นรายจ่ายได้เหมาะสมกับสภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน แต่ผู้ประกอบการก็ควรกำหนด แนวทางการบริหารจัดการลูกหนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดหนี้สูญ สามารถจัดเก็บหนี้ได้ภายในกำหนดเวลาและทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดสภาพคล่อง โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
1. การกำหนดนโยบายการให้เครดิตแก่ลูกหนี้การค้า
ไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดใด การกำหนดนโยบายการให้เครดิตแก่ลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ประกอบด้วย
· การคัดเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายควรมีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ มีความน่าเชื่อถือ ทั้งในส่วนของ ผลประกอบการและสถานะทางการเงิน
· การวิเคราะห์สถานะทางการเงินของลูกค้า
สำหรับธุรกิจ SMEs คงไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์สินเชื่อเหมือนกิจการขนาดใหญ่ แต่ควรวิเคราะห์เพื่อเป็นการป้องกัน
ความเสี่ยงในการเก็บหนี้ไม่ได้ โดยวิเคราะห์ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ กรณี ลูกค้าที่เป็นนิติบุคคลสามารถเข้าไปดูข้อมูล งบการเงินที่ตรวจสอบแล้วได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในส่วนของคลังข้อมูลธุรกิจ DataWarehouse+ (dbd.go.th)
หรือ ข้อมูลของ Business Online (BOL) ซึ่งให้บริการด้านข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลการวิเคราะห์ในเชิงสถิติ เป็นต้น ส่วนลูกค้าที่เป็น
บุคคลธรรมดา กิจการไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินและผลการดำเนินงานได้ ก็สามารถ ใช้วิธีสอบถามประวัติ อาชีพ การศึกษา การตรวจสอบจาก google ว่ามีคดีความหรือไม่ รวมทั้งการ ตรวจสอบรายชื่อบุคคลล้มละลายจากกรมบังคับคดี หรืออาจสอบถามจากคู่ค้าของบุคคลนั้นเกี่ยวกับ ประวัติและพฤติกรรมการจ่ายชำระหนี้
2. การกำหนดนโยบายการเร่งรัดหนี้สินจากลูกหนี้การค้า
เป็นการกำหนดแนวทางในการติดตามหนี้จากลูกหนี้การค้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบมีแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนและควรกำหนดขั้นตอนการจัดทำเป็นระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติงาน ได้แก่
2.1 กรณีผิดนัดชำระในระยะ 7 วันแรก พนักงานที่ดูแลจัดเก็บหนี้จะโทรติดตามเกี่ยวกับกำหนดการชำระหรือสาเหตุที่ติดขัดยังไม่ชำระหนี้
2.2 กรณีผิดนัดชำระระหว่าง 7-30 วัน พนักงานที่ดูแลจัดเก็บหนี้ จะโทรติดตามและให้ข้อมูลกำหนดการชำระและเร่งรัดให้ลูกหนี้ชำระ รวมทั้งรายงานผลการติดตามให้ฝ่ายบริหารทราบ
2.3 กรณีผิดนัดชำระเกินกว่า 30 วัน ผู้บริหารจะพิจารณาว่าบริษัทสามารถยอมรับการชำระหนี้ที่ล่าช้าได้หรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายเข้าพบลูกค้าโดยตรง เพื่อสอบถามสาเหตุในการชำระหนี้ล่าช้า มีการเจรจาหาข้อสรุป
ผู้ประกอบการควรบริหารจัดการการจัดเก็บหนี้ให้มีประสิทธิภาพ ศึกษากฎหมายภาษีดังที่กล่าวมา เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดหนี้สูญและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ติดตามความรู้ทางบัญชี ภาษี ได้ที่ บทความ – PEAK Blog (peakaccount.com)
PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ช่วยผู้ประกอบการจัดทำบัญชีได้อย่างมืออาชีพ ให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จกับโปรแกรมบัญชี PEAK
ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ https://peakaccount.com
สอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine
อ้างอิง:
หลักเกณฑ์ใหม่จัดหนี้สูญอย่างไรให้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ | อบรมบัญชี, เก็บชั่วโมง CPD (iliketax.com)
การตัดหนี้สูญตามกฎหมายฉบับใหม่ปี 2564 – สอบบัญชีธรรมนิติ(DAA)